Tag Archive | Switzerland

De Humani Corporis Fabrica (2022)

De Humani Corporis Fabrica (2022 / Lucien Castaing-Taylor, Verena Paravel)
(France / Switzerland / USA)

สนุกและเพลิดเพลินมาก ลุ้นดีว่าภาพภายในร่างกายนั่นมันคือส่วนไหนของร่างกาย/ไอ้นั่นไอ้นี่ที่เห็นมันคืออวัยวะอะไรภายใน แล้วสอดกล้องเข้าทางไหน (พอดูเป็นซับอังกฤษเจอศัพท์การแพทย์ทั้งหลายนี่เล่นไปไม่เป็นเลย มันคืออะไรวะ/ขี้เกียจแปล พอไม่รู้ศัพท์ช่วงนั้นๆ ที่หมอพูดกัน มันเลยได้ลุ้นว่ามันจะเป็นภายในส่วนไหนของร่างกายกันน้อ)

แต่พอสารคดีมันไม่เข้าช่วงผ่าตัดไม่เข้าร่างกายมนุษย์ไม่สวนท่อผ่านองคชาติชักเข้าชักออก ก็รู้สึกว่าช่วงที่เหลือนั้นมันไม่ค่อยน่าสนใจเอาซะเลย … จริงๆ ก็รู้ตัวแหละว่า หลอกตัวเองและหนีความจริงอยู่ รู้สึกหดหู่กับสภาพผู้ป่วยคนแก่ทั้งหลายในสถานพยาบาลแห่งนี้ รู้สึกท้อใจกับพวกสวัสดิการของหมอ การควบกะ พยาบาล 1 คนต่อผู้ป่วย 30 คนอะไรแบบนี้. พอรู้สึกแบบนั้นแล้วก็เลยอยากจะพาตัวเองไปอยู่ในความเพลิดเพลินของสารคดีเรื่องนี้กับภายในร่างกายมนุษย์แทน

ถ้าเน้นไปยังภาพกล้องผ่าตัดสอดใส่ภายในร่างกายมนุษย์ให้เราได้เห็นกัน มันก็สามารถเป็น Once Upon a Time… Life : Live Action ได้เลยนะนั่น.

The Truth (2019)

The Truth (2019 / Hirokazu Koreeda)
(France / Japan / Switzerland)

นี่ก็ไม่ได้เอะใจเลยถึงตัวหนังกับชื่อหนังจนกระทั่งรับชมจนจบแล้วได้อ่านรีวิวอันนี้

พอนึกๆ ย้อนดูแล้วตัวหนังมันก็ซื่อตรงกับชื่อหนังจริงๆ นั่นแหละ ในประเด็นจริง/ไม่จริง ไม่ว่าจะเรื่องความทรงจำ จำได้/จำไม่ได้หรือพูดเพื่อเอาใจ เรื่องการแสดงต้องตามบทเป๊ะ,เข้าใจ/บรรลุในบทตัวละครหรือด้นสดกันดี, เหล้าเข้าปากแล้วแพล่มคำถามต่อเมียได้, ทำงานด้วยกันมาสี่สิบปี แต่มาลาออกเพราะงอน..จริงเหร้อออ และคำด่าลูกสาวต่อแม่ตนเองที่ทำตัวงี่เง่า ฉันว่าคำนี้แหละที่ “จริง” จนตัวแม่ยังแอบสะดุ้ง!!

ชอบการมีอยู่ของ ซาร่า คนที่มีตัวตนในหนังเฉพาะในบทสนทนาและการอ้างถึงแค่นั้น ที่การพอถูกพูดถึงบ่อยเข้า ภาพตัวละครซาร่าก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นในหัวเราทีละนิดๆ. จริงๆ โคเรเอดะจะปล่อยให้มันเป็น mystery ไปก็ได้ แต่ก็ชอบที่จู่ๆ ก็ปัง อ่ะคนดูไม่ต้องวาดร่างภาพนึกตามต่อละว่า ตัวละครซาร่าเป็นยังไง เอาตัวละครนักแสดงคนหนึ่งมาวางทับไป อ่ะคนนี้แหละ ที่เหมือนซาร่าที่สุด….

Before Summer Ends (2017)

Before Summer Ends (2017 / Maryam Goormaghtigh)
(France / Switzerland)

โร้ดทริปขับรถลงใต้เพื่อไปส่งเพื่อนจากฝรั่งเศสสู่อิหร่าน ค่ำไหนนอนนั่น ย่างเนื้อกินกางเต้นท์นอน โดยระหว่างก็จะมีการปูผ่านการพูดคุยไว้บ้าง เช่น เพราะเพื่อนคนที่ตั้งใจกลับอิหร่านแบบปุ๊บปั๊บรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถต่อติดกับสังคมฝรั่งเศสได้อีกแล้ว ไม่มีเพื่อนใหม่อะไรเลย จนเพื่อนเขาสองคนก็บอกว่า ถ้าจะมีสิ่งที่หนึ่งที่หยุดให้ล้มเลิกการกลับอิหร่านของนายได้ ฉันก็คิดว่ามันน่าจะเป็นผู้หญิงนี่แหละ

เปิดเผยเนื้อหา ****

แล้วภายหลังก็มีสาวฝรั่งเศสนักดนตรีมาร่วมทริปติดรถลงใต้ไปด้วย ตั้งแต่ตรงนี้ไปนี่แหละที่ทำให้ตัวหนังโร้ดทริปเรื่อยๆ ของชายแท้สามคนดูมีรสชาติที่น่าลุ้นตามขึ้นมา เหมือนว่านี่คือสัญญาณที่จะทำให้เพื่อนคนที่ตั้งใจจะกลับอิหร่านตัดสินใจอยู่ฝรั่งเศสกันน้าาา แต่สิ่งที่ขัดก็ปรากฏอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นมา นั่นก็คือ หนึ่งในเพื่อนทั้งสามหลงและตั้งใจจะจีบหนึ่งในสองสาวฝรั่งเศสขึ้นมา (เพื่อนอีกคนแต่งงานกับสาวฝรั่งเศสไปแล้ว) มันเลยทำให้เกิดการมโนขึ้นมาว่า เพื่อนคนที่จะกลับอิหร่านที่อาจมีใจให้หนึ่งในสองสาวฝรั่งเศสนั้นอาจไม่พอใจที่โดนเพื่อนตัวเองพยายามจีบหนึ่งในสองสาวฝรั่งเศสแบบตัดหน้าเขา นี่คือกลิ่นอายดราม่าที่บังเกิดขึ้นในหัวฉันระหว่างการรับชม

แต่ในความเป็นจริงๆ หนังก็ดำเนินเรื่องต่อไปเป็นปกติ มิได้บังเกิดดราม่าขึ้นหรือรู้แจ้งถึงความรู้สึกตัวละครเหมือนที่ฉันมโนขึ้นมา แล้วจากหนึ่งในปัญหาของเพื่อนที่ตั้งใจกลับอิหร่านคนเดียว ตอนท้ายมันก็ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวที่เหมือนมีปัญหาส่วนตัวอย่างอยู่ฝรั่งเศสไม่สบายตัวอยากกลับอิหร่านมากกว่า เพื่อนอีกสองก็ปรากฏปัญหาส่วนตัวขึ้นมาโดยไม่ทันได้รับมือเช่นกัน คนหนึ่งคือปัญหาหนักที่เกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิดแต่ตัวเองมาเริ่มต้นชีวิตที่ฝรั่งเศสนี่แล้ว เลยทำให้ความเดือดร้อนไปลงกับครอบครัวเขาแทน เขาจะตัดสินใจกับเกณฑ์ทหารที่อิหร่านดี ส่วนอีกคน ตกอยู่สภาวะช้ำรักนั่งซึมที่สไลเดอร์เด็ก TT, ส่วนเพื่อนที่จะกลับอิหร่านนะเหรอ ก็ไม่มีอะไร เขาดูมีความสุขดีกับทริปครั้งนี้แล้วสุดท้ายก็ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนใจเขา เหมือนที่บทสนทนาส่วนหนึ่งมันปูเอาไว้

Keep Your Right Up (1987)

Keep Your Right Up (1987 / Jean-Luc Godard)
(France / Switzerland)

เข้าใจความรู้สึกของคนที่บอกว่า “ทำงานมาเหนื่อยๆ จะพักผ่อนทีใครเขาอยากจะดูหนังดราม่าเครียดๆ กันล่ะ” สำหรับฉันก็คือ ไม่ได้เครียดไม่ได้เหนื่อย รู้สึกชิลๆ เลยนี่แหละ แต่พอเลือกหยิบหนังซักเรื่องมาดูแล้วพบว่าเป็นหนังของ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ ฉันก็รู้สึกว่าเหนื่อยและไม่มีอารมณ์จะดูขึ้นในทันทีเลย 😃

ซึ่งพอฝืนดูมันก็เป็นไปตามที่คิดไว้จริงๆ มันคือความรู้สึกที่ดูหนังไม่รู้เรื่องไม่รู้เรื่องนั่นแหละ ให้ตายยังไงก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ ซึ่งก็อาจเป็นปกติของหนังกอดาร์อยู่แล้ว

Aurora (2010)

Aurora (2010 / Cristi Puiu)
(Romania / France / Switzerland / Germany)

แม้ความยาวหนัง 3 ชั่วโมงเลย แต่มันก็ “จับต้นชนปลาย” ได้ยากเย็นเหลือเกิน เหตุผลหลักเลยก็คือ มันไม่มี “ต้น” ให้จับ เพราะหนังเริ่มเรื่องมาแล้วเดินหน้าต่อยาว 3 ชั่วโมงนี้มันคือนับตั้งแต่ส่วนกลางเป็นต้นไป ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ใครเป็นใคร แต่ละตัวละครเกี่ยวข้องกันยังไง มีความสัมพันธ์แบบไหน แล้วการที่ตัวละครหลักมีปืนลูกซอง เขาตั้งใจจะทำอะไรกันแน่ และทำไปทำไม แรงจูงใจคืออะไร เป้าหมายคือใครเกี่ยวข้องยังไงกับเขา ทั้งนี้ที่ตัวหนังมันไม่มีต้นให้จับ แต่มันก็ก่อให้เกิดเป็นความน่าค้นหาน่าติดตามที่เกิดขึ้นแทน กระบวนการคาดเดาการต่อจิ๊กซอร์เชื่อมโยงที่เกิดขึ้นในหัวนี่แหละ จะถูกจะผิดไม่รู้แต่มันคือส่วนสำคัญเลยที่ทำให้หนังความยาวสามชั่วโมงมันไม่น่าเบื่อสำหรับฉันเลย แล้วเมื่อไม่รู้สารตั้งต้นมันคือเรื่องอะไรกันแน่ เหตุการณ์บางอย่างที่ร้ายแรง/เลวร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นเลยทำให้รู้สึกใจหายขึ้นมาทันที แล้วความรู้สึกนี่แหละที่ทำให้ความสงสัยต่อตัวละครกับการคาดเดาที่มาที่ไปนั้นมันมีพลังขึ้นมา

แต่ท้ายที่สุดแล้ว หนังก็ไม่ได้ใจร้ายกับคนดูด้วยการทิ้งให้เคว้งกับตัวหนังทั้งเรื่องหรอก เพราะในตอนจบของหนัง มันได้ปรากฏ “ต้น” (บางส่วน) มาให้คนดูได้เริ่มกระบวนการ “จับต้นชนปลาย” กันเองใหม่ซักที แม้ตัว “ต้น” นั้นจะมาช้าเลทไปถึงเกือบ 3 ชั่วโมงเลยก็ตาม…

Sonita (2015)

Sonita (2015 / Rokhsareh Ghaemmaghami)
(Germany / Switzerland / Iran)

เพราะเป็นประเพณี ทุกคนในประเทศต้องทำตาม ไม่สงสัยหรือขัดข้องใจว่ามันผิดหรือเปล่า แต่เพราะมันคือประเพณีที่นี่ พวกเราจึงทำตามๆ กันมา ประเพณีตรงนี้ก็คือ พ่อแม่สามารถจับลูกสาวแต่งกับใครก็ได้ถ้าผู้ชายคนนั้นให้สินสอดมาเป็นที่พอใจของพ่อแม่ ไม่เกี่ยงว่าผู้ชายที่จะมาแต่งกับลูกสาวจะรุ่นหรือรุ่นลุงเลยก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายตั้งใจมาสู่ขอเพื่อรับลูกสาวไปเป็นภรรยาคนแรกหรือคนถัดๆ ไป ลูกสาวก็จะหมดอนาคตหรือการชีวิตเป็นของตัวเองไปในทันที เรียนหนังสืออยู่ก็ต้องเลิกเรียน ตั้งเป้ามีความฝันไว้ก็ต้องทิ้่งไปให้หมด เพราะต้องทำหน้าที่ภรรยา เพราะนี่คือประเพณีที่ทุกคนมิอาจเลี่ยงได้

โซนิต้าคือเด็กสาวที่มีพรแสวงฝันอย่างเป็นนักร้องอยากร้องแร๊ปแต่งเพลงโดยใช้เนื้อเพลงจากชีวิตที่ผ่านมานั่นแหละ ปัจจุบันโซนิต้าอายุสิบห้าลี้ภัยจากอัฟกันมาอยู่ที่อิหร่าน โซนิต้าไม่มีบัตรยืนยันตัวตนใดๆ ทั้งนั้นที่อิหร่านนี้ วันดีคืนดีแม่ติดต่อมาเดินทางมาหาโซนิต้า ไม่ใช่ว่าคิดถึงอยากเจอลูกสาว แต่เพราะต้องมาพาโซนิต้ากลับอัฟกันเพื่อไปแต่งงาน เพื่อเอาเงินสินสอดจากงานแต่งของลูกสาวที่ได้มาเอาไปให้พี่ชายโซนิต้าใช้เป็นสินสอดเพื่องานแต่งของเขา …

ในความเป็นจริง สารคดีนั้นเราจะรู้แหละว่า ผู้กำกับจะทำหน้าที่เก็บภาพเรื่องราวของซับเจ็คเท่านั้น จะไม่ยื่นมือเข้าไปแทรกแซงใดๆ กับชีวิตของซับเจ็คเลย แต่กับเรื่องนี้มันคือความประหลาดใจ จนอดนึกไม่ได้ว่า สารคดีชีวิตของโซนิต้าคนนี้ อาจมีผลลัพท์อยู่สองแบบที่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้กำกับ ถ้าผู้กำกับทำหน้าที่เฝ้ามองเก็บภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผลลัพท์ชีวิตของโซนิต้าคงเป็นแบบนึง แต่ในความจริง สารคดีเรื่องนี้เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ความหนักที่โซนิต้าเจอในชีวิตมันบีบให้ตัวผู้กำกับทีเป็นผู้หญิงเหมือนกันต้องยื่นมือเข้าไปแทรกแซง ผลลัพท์ชีวิตของโซนิต้าจึงออกมาเป็นอีกแบบนึง แล้วตัวผู้กำกับเองก็กลายเป็นประหนึ่งซับเจ็คร่วมกับโซนิต้าไปโดยปริยาย

อีกอย่างที่รู้สึกคาดไม่ถึงเอามากๆ ก็คือ อยู่ๆ ก็อินกับชีวิตของโซนิต้าแบบไม่ทันได้เตรียมใจ เมื่อถึงหมุดหมายของชีวิตโซนิต้าจุดหนึ่ง ฉันนี่หลั่งน้ำตาด้วยอินและซาบซึ้งใจตามโซนิต้าไปด้วยเลย

>>ซื้อดูได้ที่นี่<<

The Cleaners (2018)

The Cleaners (2018 / Hans Block, Moritz Riesewieck)
(Germany / Brazil / Netherlands / Italy / USA / Japan / UK / Sweden / Austria / Switzerland / Denmark / Canada)

สารคดีเรื่องราวหลังฉากแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังกับเหล่าผู้ดูแลเนื้อหา ที่มีหน้าที่กดลบ/ไม่ลบเนื้อหาสุ่มเสี่ยงทั้งหลายที่ถูกโพสลงบนแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยตัวสารคดีจะสัมภาษณ์(อดีต)ผู้ดูแลเนื้อหาในภาคพื้นฟิลิปปินส์ที่เปรียบเสมือนศูนย์ใหญ่ของเฟสบุ๊คที่ตั้งผ่านองค์กรบริษัทจัดจ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับเฟสบุ๊ค (เฟสจะได้อ้างได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน)

หลักๆ แล้วก็รู้สึกเห็นใจเหล่าคนที่ทำงานเป็นผู้ดูแลเนื้อหาอยู่บ้างแหละ ซึ่งถ้าจิตใจเปราะบางนี่อาจเอาไม่รอดจากงานเหล่านี้ได้ เช่น หญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องมาพบโพสประมาณ เด็กผู้หญิงอายุ 7 ขวบ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เธอเห็นแบบนี้แทบไปจะหัวหน้าเลิกทำงานนี้เลย แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเธอเซ็นต์สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว
บางคนก็ต้องมาเรียนรู้ความเรื่องเซ็กส์หรือศัพท์แสงเกี่ยวกับเซ็กส์ใหม่ทั้งหมดเลย เพราะที่จะเซ็นเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ได้ถูกจุด งานตรงนี้มันทำให้เธอได้พบเห็นจู๋แบบหลากหลายมากมายไปหมด ขนิดที่เก็บไปฝันอย่างช่วยไม่ได้ บางคนที่อยู่กับเนื้อหาความรุนแรงก่อการร้าย อยู่กับภาพ/วีดีโอฆ่-าตั-ดคอ เขาก็สามารถบอกได้เลยว่าเหยื่อที่โดนตัดค-อคนนั้น โดนมีดยาวคมหรือว่าโดนมีดหั่นผักในครัวตั-ดคอกันแน่ นอกเหนือจากต้องเรียนรู้เรื่องพวกเซ็กส์เพิ่ม เนื้อหาเกี่ยวกับก่อการร้าย ผู้ดูแลก็ต้องมานั่งจดจำกลุ่ม/พรรคพวก/ฝักฝ่ายพวกนี้อีกด้วย เพื่อที่จะได้มองออกว่าโพสบางโพสแนวทางในเนื้อหาโพสนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ ถ้าเกี่ยวก็ลบได้เลย

แต่ไม่ว่ายังไง หน้าที่ของผู้ดูแลเนื้อหาโดยหลักนอกเหนือจากการลบหรือไม่ลบนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ดูแลเนื้อหาคนนั้นเป็นหลักด้วยอีกทาง ที่แม้ภาพนั้นจะผิดกฏอย่างเห็นได้ชัดถ้ามองกว้างๆ โดยยึดกฏข้อนั้นไว้ แต่สิ่งบกพร่องที่ตามมาที่ฉันเจอมาแล้วก็คือ รายละเอียดภายในกฏที่ก่อให้เกิดการยกเว้นโพสนั้นๆ ได้ว่ามันไม่ผิดกฏ ตรงนี้แหละที่เห็นได้ชัดจากผู้ดูแลเนื้อหาในสารคดีเรื่องนี้ที่ไม่ได้คิดลงลึกไปถึงขั้นนั้น อย่างเรื่องภาพศิลปะที่อยู่ในหมวด ยกเว้น มันก็ไม่รอดอยู่ดี ถ้าปรากฏจู๋หรืออะไรภายในภาพวาดงานศิลป์พวกนั้น

อีกเรื่องที่ค่อนข้างไม่คาดคิดหรือไม่ได้มองในมุมนั้นๆ ก็คือ ความต่างกันในภาคพื้นภูมิภาคระหว่างผู้ดูแลเนื้อหากับเนื้อหาผู้โพส นับว่าเป็นการบ้านอย่างหนึ่งที่ผู้ดูแลเนื้อหาต้องศึกษาต่อโพสที่มาจากภูมิภาคประเทศทวีปอื่นๆ ด้วย มิเช่นนั้นมันก็อาจเป็นการเซนเซอร์โดยยึดความเข้าใจตัวเองโดยไม่รู้ถึงความตั้งใจของอีกฝ่ายในโพสนั้น เช่น ผู้โพสโพสภาพที่เกี่ยวข้อง/เชิงต่อต่านสงคราม เป็นภาพเด็กกับทะเล แต่ฝั่งผู้ดูแลเนื้อหาที่อยู่ฟิลิปปินส์กลับมองได้ว่า น้ำท่วมและมีเด็กตาย ภาพนั้นจึงไม่ผ่านการเซนเซอร์ แต่ก็มีเงื่อนไขในมุมของผู้ดูแลเนื้อหาแหละว่า ถ้าภาพนี้เซนเซอร์ตัวเด็กซักหน่อย ก็สามารถโพสได้ไม่มีปัญหา

สำหรับส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องผู้ดูแลเนื้อหาเน้นๆ แล้ว ก็จะอยู่ที่ภาพรวมของการเซนเซอร์จากแพลตฟอร์มโซเชียลใหญ่ เช่น google twitter และ facebook
จุดแข็งของ google ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้ช่นกัน การทำงานที่ครอบคลุมกว้างก็ทำให้ไม่สามารถตามเซนเซอร์เนื้อหาล่อแหลมได้หมดในทันทีได้เช่นกัน เรื่องภาพวีดีโอสงครามก็กลายเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวสำหรับเหล่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ฟุตเทตสงครามที่ถูกเหมารวมเกี่ยวข้องกับก่อการร้าย ถ้ามันถูกโพสลงแล้วก็อาจโดนลบโดยไวได้ ฉะนั้นกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวการสงครามอย่างที่เกิดในซีเรียก็ต้องรีบเซฟวีดีโอนั้นไว้ก่อนที่มันจะถูกลบและหายไปจากโลก แล้วจะไม่หลงเหลือประวัติศาสตร์ใดๆ เลยในภายหลัง
การเซนเซอร์จากแพลตฟอร์มโซเชียลที่ถูกร้องขอ(แทรกแซง)จากรัฐบาลประเทศนั้น ที่สร้างความปวดหัวให้กับบริษัทและเหล่าผู้ดูแลเนื้อหาเป็นที่สุด

แต่ส่วนที่หนักและคิดว่าจริงที่สุดก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลบางราย ได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงและความเกลียดชังขึ้น ตัวสารคดีก็ยกตัวอย่างโรฮิงญากับพม่าขึ้นมาให้เห็นได้ชัดแจ้งที่สุด คนพม่าที่อยู่กับเฟสบุ๊กเป็นชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อความเกลียดชังต่อโรฮิงญาได้ถูกจุดไฟขึ้น โดยคนที่มีผู้ติดตามมาก คนพม่าก็รับสารหรือแมม้กระทั่งเฟคนิวส์ในฝั่งนี้ทางเดียวแบบไม่รู้ว่ากำลังโดนล้างสมองอยู่ เมื่อไม่เกิดการร้องเรียน ความเกลียดชังก็ฝังลึกกันไปในสังคมพม่าเรื่อยๆ จนสุดท้ายทุกอย่างเลยกลายเป็นความชอบธรรมในสังคมไป การทำร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาเลยกลายคือสิ่งที่ถูกต้องไปในสังคมพม่าไปโดยปริยาย

สำหรับเรื่องผู้ดูแลเนื้อหาบนเฟสบุ๊ค ถ้าตัดมา ณ ปัจจุบัน น่าตกงานกันเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนหนึ่งก็มาจากสถานการณ์โควิท แต่อีกส่วนที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญเลยก็คือ AI สุดแสนฉลาดล้ำโลกของได้มาร์กนี่แหละ มาร์กหวังพึ่งกับ AI เป็นหลักชนิดที่สามารถทำงานแทนผู้ดูแลเนื้อหาได้เลย ประหยัดและรวดเร็วมีประสิทธิภาพ …… เรื่อง AI ของมาร์กสำหรับฉันน่ะเหรอ ถุย ห่วยแตกและดักดานไร้ประสิทธภาพเป็นที่หนึ่งเลย แถมก่อให้เกิดการขับไล่ไสส่งผู้ใช้งานหนักขึ้นไปอีก

Memoria (2021)

Memoria (2021 / Apichatpong Weerasethakul)
(Colombia / Thailand / France / Germany / Mexico / Qatar / UK / China / Switzerland)

จำไม่ได้ละว่าผ่านตาจากรีวิวใคร ที่ว่าสำคัญกว่าการเลือกโรงผ่านระบบเสียง ก็คือช่วงเวลามากกว่า เสียงในหนังคือส่วนสำคัญ มันจึงอาจถูกรบกวนได้จากคนดูหนังผ่านถุงขนมขวดน้ำดูดหลอดอะไรพวกนี้ได้ เมื่อฉันอ่านตรงนี้ปุ๊บ สิ่งแรกที่เลือกเลย เลือกโรงหนังในห้างมันไปเลยที่ราคาสูงๆ ที่ฉันสู้ราคารได้นะ5555 (จบลงที่ SF World Cinema) + เลือกรอบที่เช้าๆ ไปเลย (ได้ไปรอบเที่ยง) คนดูรอบนั้นน่าจะสิบกว่าคนหรือน้อยกว่านั้น ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งผลลัพท์ที่สุดแสนจะเพอเฟ็คที่ลงตัวที่สุดกับหนังพี่เจ้ยเรื่องนี้ที่เสียงสำคัญกว่าภาพ …

ด้วยความที่ไม่ดูตัวอย่างอะไรมาก่อนเลย เสียงแรกที่ปรากฏตอนเริ่มหนังคือความรู้สึกที่น่าขนลุกเอามากๆ แล้วรู้สึกสะดุ้งตามเจสสิก้าทุกครั้งที่เสียงนั้นดังขึ้น แต่จุดพีคที่สุดที่น่าจะได้จากการดูโรงหนังเท่านั้นก็คือ จุดที่ทุกอย่างเงียบ เงียบชนิดที่เหมือนกด mute ไว้ เงียบแบบว่ารู้สึกได้เลยว่า คนในโรงที่นั่งดูอยู่ด้วยกันคงแทบจะหยุดหายใจตามความเงียบที่เกิดในหนังนั่น แล้วอารมณ์จุดพีคนี้ก็ลากยาวไปจวบจนหนังหมดเอนเครดิตเลย ทุกคนในโรงก็อยู่จนจบเอนเครดิตด้วยเช่นกัน
คือถ้าโรงหนังมีเสียงจากโรงข้างเล็ดลอดมานี่ จบเลย อารมณ์ร่วมกับหนังคงหดหายไปในพริบตาแน่ๆ 55555

มาว่ากันที่ตัวหนังกันบ้าง เอาเท่าที่จะพยายามรีดเร้นออกมาได้ละกัน

แน่นอนว่า สปอย********

การที่ตอนหลังมีการพูดถึง เสาอากาศ มันก็ทำให้นึกถึง commentary track ใน DVD สัตว์ประหลาด! ที่พูดถึงเรื่องเสาอากาศเช่นกัน ที่นำไปสู่การแทนค่าการสื่อสารที่มีในหนัง กับใน สัตว์ประหลาด! บทสนทนาของโต้งกับเก่งที่คุยกันเสียงเบา+เสียงฝนตกที่แทรกทำให้คนดูฟังไม่ถนัดไม่รู้เลยว่าทั้งคู่คุยอะไรกัน พี่เจ้ยก็บอก ตรงส่วนนี้มันเสมือนเป็นโลกของพวกเขาทั้งสองคน ฝนก็คือคลื่นวิทยุที่รบกวนการได้ยินและเข้าใจในจุดๆ นั้น
ส่วน Memoria ก็เหมือนปรับแต่งใหม่ เสาอากาศคือการรับคลื่นบางอย่าง ที่เจสสิก้าได้รับคือเสี้ยวเดียวแค่เสียงๆ นั้น พอตอนท้ายได้เจอบุคคลที่เสมือนเครื่องอ่านที่สามารถอ่านค่าอดีตได้ทุกอย่างที่สัมผัส มันจึงกลายเป็นการอัพเกรดอุปกรณ์ให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเกิดการพ่วงอุปกรณ์กันผ่านการสัมผัสร่างกายประหนึ่งเครื่องอ่านต่อเสาอากาศรับสัญญาณเข้าไปอีกที
เมื่อช่องรับสัญญาณของเจสสิก้าเกิดการขยายช่องรับสัญญาณขึ้น ชนิดที่อยู่ในบ้านของคนๆ นั้นก็สัมผัสเห็นภาพถึงอดีตของที่นี่ได้ ทีนี้เมื่อทั้งคู่ต่อพ่วงอุปกรณ์เข้าหากัน คนที่เป็นเครื่องอ่านก็อ่านค่าโดยตรงจากตัวเจสสิก้าที่เป็นเสาอากาศที่รับสัญญาณเสียงนั่นมาผ่านการสัมผัส ความสามารถของคนที่เครื่องอ่านก็คืออ่านไฟล์ได้ทุกชนิดไปยันรากเหง้าทั้งหมดของสิ่งที่อ่าน ฉะนั้นสำหรับเรื่องเสียงนั่นที่เจสสิก้าเสาอากาศรับสัญญาณมาก็น่าจะสามารถหาต้นตอที่มาของเสียงๆ นั่นได้จากการต่อพ่วงอุปกรณ์กันและกันนี่แหละ ระหว่างการอ่านของเครื่องอ่าน ก็คงมีแต่ทั้งคู่ละมั่งที่ได้เห็นภาพว่าการสัญญาณของเจสสิก้าเสียงอันนั่นระหว่างทางของ process เพื่อหาต้นตอทั้งคู่ได้เห็นภาพกันแหละว่าผ่านอะไรกันมามั่ง แต่คนดูอย่างเราก็ยังคงรับรู้ได้แค่เสียงบรรยากาศเรื่องราวพวกนั้นเท่านั้น

สำหรับในส่วนอื่นๆ ของหนังนั้น ขอตัวไปอ่านของคนอื่นก่อนละนะ 😃

Azor (2021)

Azor (2021 / Andreas Fontana)
(Switzerland / France / Argentina)

นายธนาคารเอกชนจากเจนีวาเดินทางไปอาร์เจนตินาพร้อมภรรยา เพื่อสานต่องานของคู่หูเขาท่ามกลางระบอบเผด็จการที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้
ว่าตามตรง คือการคุยการเจรจาธุรกิจเรื่องเงินๆ ทองๆ ของนายธนาคารนี่ตามไม่ค่อยทันหรือไม่ค่อยจะเข้าใจซักเท่าไหร่ แต่นั้นอาจไม่ใช่จุดโฟกัสหลักที่คนดูจะสัมผัสได้เป็นอย่างแรก สิ่งแรกเลยที่สัมผัสได้จากในหนัง ก็คือความไม่น่าไว้วางใจภายใต้บรรยากาศ Thriller โดยจะเริ่มที่ตัวคู่หูของเขานี่แหละ ที่หายไป หายไปแบบชั่วข้ามคืน ทิ้งงานค้างคาไว้จนธนาคารต้องส่งเขาคนนี้มาสะสางต่อ
ที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การรับรู้ว่าคู่หูเขาทำงานไปถึงขั้นไหนแล้วต่อกลุ่มลูกค้าในอาร์เจนตินาที่ต้องไปเจรจา บางเรื่องก็ขัดแย้งกันบ้างทั้งจากตัวเขาที่ได้ฟังจากคนหนึ่งหรือภรรยาได้ฟังจากอีกมุม ว่าคู่หูเขาเป็นคนยังไง ยิ่งนายธนาคารเดินหน้าสะสางไปตามลิสต์กลุ่มลูกค้า ก็เกิดการเปรียบเทียบกันเองระหว่างตัวเขาและคู่หูเขาในแง่ ตามอยู่/นำอยู่กี่ก้าว…

ชอบช่วงท้ายเรื่องกับบรรยากาศในหนังมาพาไปแบบสุดจริงๆ ไปสู่ความเสียวสันหลังจากนายธนาคารคนหนึ่งลุ้นไปกับบรรยากาศตรงหน้าว่าจะมีอะไรไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วตามมาซึ่งช็อตจบที่ชอบจริงๆ เพราะมันคือสิ่งที่เขาควรได้รับในที่สุดสำหรับงานครั้งนี้

โดยรวมแล้วหนังมันช้าๆ เอื่อยๆ อยู่นะ อาจพาลให้ง่วงหรือเบื่อได้ไม่ยาก ฉะนั้นจงเตรียมร่างกายให้พร้อมนิดนึง ☺

Cure: The Life of Another (2014)

Cure: The Life of Another (2014 / Andrea Staka)
(Switzerland / Croatia / Bosnia and Herzegovina)

ลินดาย้ายจากซูริคสวิตเซอร์แลนด์มาอยู่เมืองดูโบรฟนิกในโครเอเชียกับพ่อหลังพ่อแม่หย่ากัน ลินดามีเพื่อนสนิทคนเดียวชื่ออิตา อิตาเป็นเด็กสาวตัวแสบหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของกะจู๋ วันหนึ่งอิตาพาลินดาไปบนเขา ที่ลับส่วนตัวของอิตา อิตาดูเป็นคนอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีน่ารักกับลินดาเดี๋ยวร้ายดูถูกดูแคลนลินดา นำพามาซึ่งการหยอกล้อกันริมผา แล้วไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลินดาผลักอิตาตกผาลงไปนอนแน่นิ่งบนหินริมทะเล

จากนั้นในสายตาของคนทั่วไปหรือเพื่อนร่วมชั้น ก็กลายเป็นมองลินดาในแง่เลวร้ายโดยเฉพาะเพื่อนร่วมชั้น แต่ความจริงหนึ่งเดียวที่ว่าลินดาผลักอิตาตกเขาตาย มันก็ยังอยู่กับตัวลินดาเอง เหตุที่เกิดขึ้นเลยดูเป็นอุบัติเหตุที่ลินดาอยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น สำหรับตัวลินดาเองก็อยู่ในสภาพจิตหลอนเป็นบางครั้งบางคราว คุยกับอิตาเหมือนอิตายังอยู่กับเธอยังไม่ตายแต่ลินดาก็รู้แหละว่าอิตาตายแล้ว พร้อมกับความจริงที่ลินดาแบกว่าตนเองคือคนที่ฆ่าอิตา
จนเมื่อลินดาไปพบครอบครัวของอิตาที่เหลือแค่แม่กับย่า สิ่งเดียวที่รั้งลินดาไว้ที่นั่นก็คือย่าอิตาที่ไม่รู้ว่าหลอนหรือหลอกตัวเองอยู่ ย่าที่มองลินดาคืออิตาหลานสาวที่รักของตนเอง ประกอบกับลินดาที่เอาไดอารี่ของอิตามาอ่านอยู่บ่อยครั้งจนเป็นเหตุผลให้บ่อยครั้งลินดารู้สึกว่าตนเองนั้นคืออิตา ความเหงาตัวคนที่เคยประสบได้ถูกโอบอุ้มไว้ด้วยย่าของอิตาที่ใจดีกับเธอ ซึ่งก็รวมไปถึงการพยายามเข้าถึง/จับชายคนรักของอิตาให้ได้ การเป็นลินดาในเมืองนี้มันช่างแปลกแยก ฉะนั้นการได้เป็นอิตาคือพื้นที่ๆ ใช่สำหรับเธอ

แต่ไม่ว่ายังไง ลินดาก็ยังคงเป็นลินดา เป็นคนนอกที่ไม่อาจแย่งชิงพื้นที่ของอิตาได้ในความเป็นจริง อิตาที่ลินดาเห็นก็วนเวียนหยอกล้อแดกดันลินดาอยู่ตลอด จนสุดท้ายลินดาก็ไม่หนีไม่พ้น ความจริงที่ว่าเธอไม่อาจแทนที่ลินดาได้เพราะเธอคือคนที่ผลักลินดาตกเขาตาย

ชอบตอนจบมาก มันให้ความย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองดูโบรฟนิกของลินดาตลอดทั้งเรื่องนับจากอิตาตายแล้วลินดาพยายามแทนที่เข้าไป เมื่อลินดากลับที่เก่า ลินดาจะยังคงเป็นลินดาอยู่หรือไม่